มรกต (Emerald)

มรกตเป็นรัตนชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณค่าราคาสูง และหาได้ยาก เช่นเดียวกันกับ รัตนชาติมีค่าสูงอื่น ๆ สีเขียวเข้มสด ของมรกตยากที่จะหา สีเขียวของรัตนชาติ อื่นใดเทียบได้ และจะเรียกว่า สีเขียวมรกต

มรกตอาจมีความมืด - สว่าง แตกต่างกันไป แต่ไม่ควรมีสีเขียวอ่อน ถ้ามรกตมีสีเขียวอ่อน ก็ไม่ควรจะเรียกว่ามรกต ชนิดที่มีสีเขียวอ่อนนั้น สีเกิดจากธาตุเหล็ก แต่สีเขียวที่เข้มสด ของมรกตเกิดจาก ธาตุโครเมียม หรือวาเนเดียม หรือจากทั้งสองธาตุ อยู่ในโครงสร้างของผลึก

มรกตคุณภาพดีชนิดที่มีสีเขียวเข้ม สวยสดไม่มีสีเหลือง หรือสีน้ำเงินปน และปราศจาก ตำหนิมลทินใด ๆ อาจจะมีราคาสูง ถึงหลายหมื่นบาท ต่อกะรัต อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามรกต จะมีคุณภาพดีสีสวย เท่าใด มักจะมีตำหนิ มลทินเกิดอยู่ ในเนื้อเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะ ตามธรรมชาติ ของมรกต ตำหนิมลทินต่าง ๆ อาจจะมีมาก หรือน้อย มองเห็นได้ยาก หรือง่ายก็ได้ และมรกตมัก จะมีความเปราะ แตกหักได้ง่าย ไม่คงทนต่อ แรงกระเทก ความร้อน หรือสารเคมีต่าง ๆ ดังนั้นจะต้อง ระมัดระวังรักษา ดูแลเป็นพิเศษ

มรกตเป็นแร่ ที่อยู่ในกลุ่มแร่เบริล แต่มีลักษณะกำเนิด ที่แตกต่างจาก แร่เบริลชนิดอื่น ๆ มรกตมักจะพบ เกิดอยู่ในหินแปร ซึ่งจะมีบริเวณจำกัด ต่อการเกิดของผลึกแร่ จนมีผลต่อขนาด และความหายาก ของมรกต แต่แร่เบริล โดยทั่วไป มักจะพบเกิด อยู่ในสายแร่เพกมาไทด์ ซึ่งจะให้ผลึกแร่ มีขนาดใหญ่กว่า และมีปริมาณมากกว่า

มรกตมักจะพบอยู่ในหินต้นกำเนิด หรือแหล่งแบบปฐมภูมิ มากกว่าแหล่งแบบ ลานแร่สะสมตัว เนื่องจากมรกต มีความเปราะนั่นเอง จึงมักจะถูกทำลาย ได้ง่ายก่อนที่จะถูกพัดพา ไปสะสมตัวในแหล่งไกล ๆ คุณสมบัติต่าง ๆ ของมรกต เช่นความถ่วงจำเพาะ ค่าดัชนีหักเหของแสง สีแฝด เป็นต้น มักจะเปลี่ยนแปลง ไปเล็กน้อย ตามลักษณะ สภาวะแวดล้อม ของการเกิดในบริเวณต่าง ๆ

แหล่งมรกตในประเทศโคลัมเบีย ซึ่งมีเหมืองแร่ มรกตอยู่หลายแห่ง มรกตที่มีคุณภาพดี มีสีเขียวงามสวยสด และมีขนาดพอสมควร จะได้มาจากแหล่งชื่อ ชิวอร์ และมูโซ นอกจากนี้ยังมีแหล่ง ในประเทศต่าง ๆ ที่ให้มรกตที่สวยงาม ไม่แพ้มรกตจากโคลัมเบีย เช่น ในประเทศบราซิล ซิมบับเว แซมเบีย แทนซาเนีย รัสเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น แต่มรกตจากแหล่งเหล่านั้น มักจะมีปริมาณน้อย และไม่เป็นที่นิยม

สำหรับรูปแบบของการเจียระไน ที่เป็นที่นิยม สำหรับมรกตก็คือ แบบสี่เหลี่ยมตัดมุม ขั้นบันได (ระดับ) หรือที่เรียก โดยทั่วไปว่า เหลี่ยมมรกต นอกจากนี้อาจมี แบบรูปไข่ รูปหยดน้ำ โค้งมนหลังเต่า แกะสลัก เป็นต้น มรกตมักจะมีการเทียม เลียนแบบได้ ทั้งจากมรกต สังเคราะห์ รัตนชาติสังเคราะห์ และรัตนชาติ ธรรมชาติอื่นๆ การตรวจจำแนก อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ และความชำนาญ เข้าช่วยเป็นอย่างมาก

มรกตแบ่งออก เป็นระดับทางการค้า 6 ระดับ คือ

1. มรกตโคลัมเบีย มีสีเขียวสด บริสุทธิ์ ค่อนข้างใส อาจจะมีสีเหลืองเขียว หรือน้ำเงินเขียว ปนเล็กน้อย จัดเป็นมรกต คุณภาพดี สีดีกว่าชนิดอื่น กล่าวง่ายๆ คือ มีสีเขียวขจีสดใส
2. มรกตรัสเซีย มีสีเขียวสด แต่ความเข้มของสี ไม่เท่ามรกตโคลัมเบีย มีสีเหลืองปน มากกว่าเล็กน้อย และมีตำหนิ มลทินมาก กว่าเล็กน้อยเช่นกัน
3. มรกตบราซิล มีสีเขียวอ่อนจาง ถึงเข้มปานกลาง ไม่ค่อยมี ตำหนิมลทิน
4. มรกตซานดาวานา จัดเป็นมรกตคุณภาพดี มีสีเขียวสดสวย แต่มักจะมีตำหนิ และมีขนาดเล็ก ขนาดน้ำหนัก มากกว่า 3 กะรัต จะหายาก
5. มรกตแทนซาเนีย โดยปกติมีสีเขียว อมเหลือง แต่บางครั้ง อมน้ำเงิน ถ้าคุณภาพดีขึ้นมาอีก จะมีสีคล้ายมรกต โคลัมเบีย
6. มรกตแซมเบีย มีสีเขียวสดใส เขียวอมน้ำเงิน จนถึงเขียวเข้มอมม่วง แต่มักจะ มีเหลือบสีเทา ปนเสมอ

มรกตคุณภาพดี ควรจะมีสีเขียวสด ใสแจ๋ว ไม่มีมลทิน ตำหนิ ไม่มีเหลือบสีเหลือง น้ำเงิน หรือขาวปน ซึ่งจะหายากมาก และมีราคาแพง บางคนอาจชอบสีเขียว มีสีเหลืองปน หรือเขียวอมน้ำเงิน มีประกายสดใส และไร้มลทิน แต่บางคนอาจชอบ สีเขียวกำมะหยี่ มีมลทิน ให้เห็นเป็น รูปร่างสวยงามบ้าง ขึ้นอยู่กับรสนิยม และสายตาของแต่ละคน

มรกตมักจะนำมาเจียระไน ในรูปลักษณะ สี่เหลี่ยมที่เรียกว่า เหลี่ยมมรกต (Emerald Cut) เนื่องจากมรกต จัดเป็นพลอยที่มีมลทิน อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นลักษณะโดยธรรมชาติของมัน การที่จะนำมาเจียระไน เป็นเหลี่ยมเหมือนไพลิน จึงกระทำได้ยาก ประกอบกับ มีความเปราะสูง จึงต้องเจียระไน เป็นแบบเหลี่ยมรกต และมรกต มีค่าดัชนีหักเห ของแสงต่ำกว่าทับทิม ไพลิน ดังนั้นการเจียระไน แบบนี้จะให้ประกาย ความสวยงายของสี ออกมา มากกว่าการเจียระไน แบบเหลี่ยมเพชร หากมรกตนั้น มีตำหนิ มลทินมาก อาจจะนำมาเจียระไน แบบหลังเบี้ย หลังเต่า หรือแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ได้เช่นกัน

นิยมนำเอามรกตมา ทำแหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ จี้ ตุ้มหู และส่วนใหญ่ จะนิยมนำเอารัตนชาติชนิดอื่น มาตกแต่งประดับด้วย เช่น ทับทิม เพชร หรือโทแพซ เพราะความมีสีเขียว ของมรกตจะให้สีสัน ที่ตัดกันดี

(จาก Rock-Hut information)