การพิจารณาเลือกซื้อ 'เพชร (Diamond)'
ใช้หลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ

1. มลทินหรือตำหนิ

การดูว่าเพชรมีมลทิน หรือตำหนินั้น จะต้องดูว่า จำนวนมลทินมีมาก หรือน้อยขนาดไหน มลทินนั้นวางตัว อยู่บริเวณใด สามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่าหรือไม่ ทำให้เพชรสวยน้อยลง หรือไม่ ปัญหาในการจัดระดับ คุณภาพเกี่ยวกับมลทิน นั้นมีอยู่มาก เพราะใครจะเป็นตุลาการ ตัดสินว่าเพชรเม็ดนั้น มีมลทินมากน้อย ขนาดไหน มีมาตรฐานอย่างไร ในการตัดสิน เพราะในเพชรเม็ดเดียวกัน คนดูอาจจะมองเห็น แตกต่างกันไป คนหนึ่งอาจจะบอกว่า มลทินมีบ้าง อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ชำนาญ อาจจะบอกว่าใสสะอาด ไร้มลทิน

ดังนั้น มาทำความเข้าใจ หลักการของ สถาบันอัญมณีศาสตร์ แห่งอเมริกา (GIA) ซึ่งได้วางมาตรฐาน ในการจัดระดับ คุณภาพมลทิน เสียก่อน

คำว่า มลทิน หรือ ตำหนิ คือ ร่องรอยที่เกิดขึ้น ในเนื้อเพชร หรือบริเวณขอบนอก ของเพชร ซึ่งจะมีผลต่อ ความสวยงาม และความคงทน ของเพชร ตำหนิภายนอก อาจจะเป็น รอยขูด รอยแหว่ง บิ่น หลุม บ่อ มลทินภายใน อาจจะเป็นรอยแตก ผลึกของแร่อื่น ความมัวหมอง หรือจุดดำ จะต้องดูว่ามลทิน หรือตำหนินั้นมีมาก จนมีผลกระทบ ต่อความสวยงาม หรือความคงทนหรือไม่ มาตรฐานการจัดระดับ คุณภาพมลทินจะต้อง ดูด้วยแว่นขยาย หรือกล้องขยายที่มีกำลังขยาย 10 เท่า และจะต้องใช้ผู้ดู ที่มีความชำนาญ และประสบการณ์สูง ควรจะดูด้วยตาเปล่าก่อน ถ้ามลทินหรือตำหนิ นั้นมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า ก็จัดเป็นเพชรที่ไม่สวยสมบูรณ์

การจัดระดับมลทิน ตามมาตรฐานของสถาบันอัญมณีศาสตร ์แห่งอเมริกา แบ่งออกได้ดังนี้ คือ

1.1 ระดับ FL (Flawless) สดใสไร้มลทินหรือไร้ตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น จัดเป็นเพชรน้ำหนึ่ง แต่ถ้ามีตำหนิที่ผิวเล็กน้อย ซึ่งดูแล้วเห็นว่าจะเจียระไน ออกใหม่ได้จัดเป็นระดับ IF (Internally Flawless)

1.2 ระดับ VVS (Very, Very Slightly Included) มีมลทินหรือตำหนิเล็กๆ สามารถมองเห็นได้ ภายใต้แว่น หรือกล้องขยายขนาด 10 เท่า ได้ยากมากๆ VVS 1 แสดงว่า มลทินหรือตำหน ิไม่ได้อยู่บริเวณหน้าโต๊ะ VVS 2 แสดงว่า มลทินหรือตำหนิ อยู่บริเวณก้น หรือใต้ขอบเพชร หรืออยู่ทางด้านข้าง

1.3 ระดับ VS (Very Slightly Included)มีมลทินหรือตำหนิเล็กๆ สามารถมองเห็น ภายใต้กำลังขยาย 10 เท่าได้ยากจนถึงค่อนข้างง่าย อาจจะเป็นมลทินขนาดใหญ่ 2 - 3 จุด หรือมลทินขนาดเล็กมาก หลายจุด VS 1 แสดงว่า มลทินขนาดเล็ก เห็นได้ยากภายใต้ กำลังขยาย 10 เท่า VS 2 แสดงว่า มลทินขนาดเล็ก เห็นได้ค่อนข้างง่าย ภายใต้กำลังขยาย

1.4 ระดับ SI (Small Included) มีมลทินหรือตำหนิ ขนาดเล็กเห็นได้ง่าย ภายใต้กำลังขยาย 10 เท่า SI 1 แสดงว่า มลทินขนาดเล็ก ที่สังเกตเห็นได้ง่าย ภายใต้กำลังขยาย 10 เท่า SI 2 แสดงว่า มีมลทินขนาดเล็ก ที่สังเกตเห็นได้ง่ายมาก ภายใต้กำลังขยาย 10 เท่า และอาจเห็นได้ง่าย ด้วยตาเปล่าเมื่อวางเพชร คว่ำหน้าลง และมองผ่านส่วนล่างของเพชร

1.5 ระดับ I (Imperfect) มีมลทินหรือตำหนิ เด่นชัดเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า และมีกระทบต่อความคงทน และความสวยงาม

เพชรที่มีรอยแตกเล็กๆ เหมือนเส้นผมกระจายอยู่ทั่วไป จัดเป็นเพชรที่ไม่สมบูรณ์ ถึงแม้จะมองไม่เห็น ด้วยตาเปล่า ราคาจะถูกลงมาก ส่วนเพชรที่ขุ่นมัว ไม่สุกใสไม่มีประกาย ก็จัดเป็นเพชรที่มีคุณภาพต่ำ ด้วยราคาของเพชร จะลดหลั่นลงตามคุณภาพ ของมลทินอย่างไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือ เพชรที่มีคุณภาพ มลทินจากระดับ IF ถึง I มีราคาลดหลั่นลง จากระดับหนึ่งมาระดับหนึ่ง ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ราคาที่ลดลง จากระดับหนึ่ง มาอีกระดับหนึ่ง อาจจะมากหรือน้อยก็คือ

จากระดับมลทิน คุณภาพ IF มาถึงมลทินคุณภาพ VS ราคาจะลดลงมาก ในคุณภาพสีเดียวกัน (มลทินระดับ IF สี G และมลทินระดับ VS 1 สี G ขนาด 1 กะรัต ราคาต่างกันถึง 40,320 บาท) แต่จากระดับ VS 1 ขนาดเท่ากันมาถึงระดับ SI 1 ราคาจะลดลงไม่มากนัก (มลทินระดับ VS 1 สี G และมลทินระดับ SI สี G ขนาด 1 กะรัต ราคาต่างกันแค่ 20,160 บาท) นอกจากนี้ราคายังถูก กำหนดด้วยขนาด ของเพชร สี และการเจียระไน (Rappaport Diamond Report พฤษภาคม 2539)

ข้อควรระวังในการตรวจคุณภาพมลทิน

1. ยากต่อการจะตรวจหามลทินได้ ภายใต้แว่นขยาย 10 เท่า ถึงแม้ตามมาตรฐาน จะให้ใช้กำลังขยาย แค่ 10 เท่า คนที่มีความชำนาญ คุ้นเคยเท่านั้น จึงจะมองเห็นมลทิน ขนาดเล็กมากๆ ในเพชรระดับ VVS คือ เพชรที่เกือบใส ไร้มลทิน คนทั่วไปจะมองเห็นได้ยาก และแม้แต่เพชรในระดับ VS ก็อาจจะมอง ไม่เห็นเช่นกัน ยิ่งเป็นเพชรที่อยู่ใน ตัวเรือนยิ่งยากมาก

2. ระบบแสงที่ใช้ ในการตรวจหามลทิน ก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรจะใช้แสงเข้าทาง ด้านข้างของเพชร เพื่อหลีกเลี่ยงแสง ที่จะสะท้อนกลับมายังตาของผู้ดู ทำให้มองไม่เห็นมลทิน เพราะจะเห็นแต่ประกาย วูบวาบของเพชรแทน

3. ก่อนตรวจดูควรทำความสะอาดเพชร เสียก่อน เพราะอาจจะเห็นฝุ่นละออง ที่อยู่บนเพชร เป็นมลทินไปได้

4. มลทินบางจุดที่มองเห็น จากก้นเพชร อาจจะมองไม่เห็น ทางด้านหน้าโต๊ะเพชร

5. เพชรที่อยู่ในตัวเรือน จะตรวจหามลทินได้ยากมาก ดังนั้นถ้าเพชรมีขนาดใหญ่ ราคาสูงควรจะต้องยอม ถอดเพชรออกจากเรือน แล้วค่อยตรวจคุณภาพมลทิน

6. การจัดระดับคุณภาพมลทิน ในเพชรขนาดใหญ่ ควรทำด้วย ความระมัดระวัง จัดระดับให้ถูกต้อง เพราะราคา ในแต่ละระดับ แตกต่างกันมาก การจัดระดับผิด ในแต่ละช่วงมลทิน จากระดับใสสะอาด (IF) ระดับเกือบสดใสไร้มลทิน (VVS) ระดับมีมลทินเล็กน้อยมาก (VS) จะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมีผลต่อราคา ยิ่งประกอบกับ เป็นเพชรขาว ไร้สีราคายิ่งต่างกันมาก

ควรจะซื้อเพชรระดับมลทินใดดีสำหรับคนมีฐานะปานกลางมีเงินไม่มากนัก ระดับ VS - SI เป็นระดับที่เหมาะสม ต่อการซื้อมากที่สุด เพราะราคาจะถูกกว่าระดับ IF และ VVS มาก มลทินในระดับ VS - SI มีผลกระทบต่อ ความสวยงามของ เพชรน้อยมาก เว้นแต่จะใช้กล้องขยาย กำลังสูงดู จึงจะเห็นความแตกต่าง

2.สี

ตามสากลนิยม เพชรที่ไร้สี ไม่มีสี (colorless) บริสุทธิ์ คือเพชรที่จัดว่า มีคุณภาพดีที่สุด แต่ความสามารถในการดูสี ความแหลมคมของสายตา และประสาทที่สัมผัสสี ของแต่ละคน จะแตกต่างกัน สีของเพชร มีความสำคัญในการประเมิน คุณค่ารองลงมาจากมลทิน เนื่องจากเพชรที่ไร้สี กับเพชรที่มีสีปนเล็กน้อย จะแยกออกจากกันได้ ด้วยตาเปล่าได้ยากมาก จะต้องมีมาตรฐานส ีมาเปรียบเทียบ จึงจะมองเห็นความแตกต่างได้ เพชรที่ไร้สีบริสุทธิ์ แต่มีมลทิน ที่เห็นได้ชัด จะมีราคาถูกกว่าเพชร ที่ไม่ไร้สีทีเดียว หรือน้ำไม่ขาวสนิท แต่สดใสไร้มลทิน การจัดระดับคุณภาพสี ผิดพลาดก็มีผลกระทบ ต่อราคาเช่นเดียวกันกับ การจัดระดับคุณภาพ มลทินผิดพลาด เพราะแต่ละระดับของสี ราคาต่างกันมาก เช่น ระดับ D และระดับ E ราคาต่างกัน ประมาณ 32,760 บาท แต่ระดับ F และระดับ G ราคาต่างกัน ประมาณ 25,200 บาท ระดับ H และระดับ I ราคาต่างกันประมาณ 10,000 บาท (หมายถึงในขนาด และคุณภาพมลทินเดียวกัน) ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่า เพชรนั้นไร้สีหรือไม่ มีปริมาณสีเหลือง เทาปนอยู่มากน้อยเพียงใด ดังนั้นการพิจารณาสี จึงต้องมีมาตรฐานสี เปรียบเทียบเช่นกัน (ราคาเพชรชนิดมลทิน VVS 1 ขนาด 1 กะรัต จาก Rappaport Diamond Report พฤษภาคม 2539)

2.1 สเกลที่ไม่ได้มาตรฐาน การใช้สเกลเทียบสี มีความแตกต่างกันมากมาย ซึ่งเป็นสเกลที่ตั้งขึ้นมาอย่างไม่มีมาตรฐาน ใช้สายตาคาดคะเนดูว่าเพชรนั้นมีน้ำขาวบริสุทธิ์ น้ำขาว น้ำเหลืองปนหรือไม่ บ้างใช้คำว่า RIVER สำหรับเพชรไร้สี (น้ำขาวบริสุทธิ์) CAPE สำหรับเพชรที่มีสีเหลืองปน บ้างก็เรียกเป็น เปอร์เซนต์ซึ่งส่วนใหญ่ ทางเอเชียใช้กัน เช่น ถ้ามองดูน้ำขาว ไร้สีบริสุทธิ์จัดเป็น 100 % เบี่ยงเบนจากขาวไร้สี มาเล็กน้อยจัดเป็น 99 % บ้างเรียก น้ำขาวบริสุทธิ์ เป็นเพชรน้ำหนึ่ง น้ำเหลืองปน นิดหน่อยเป็นน้ำรองลงมา ปัญหาก็คือว่าสเกล เหล่านี้ไม่เป็นสเกลสากล ไม่ได้ยอมรับกันโดยทั่วไป เพราะว่าเมื่อจัดระดับ คุณภาพว่า เป็นเพชรน้ำขาวบริสุทธิ์ ไร้สีโดยมองจาก ทางด้านหน้าโต๊ะ แต่ถ้ามองจาก ทางด้านข้างกลับมองเห็น มีสีเหลืองปนนิดหน่อย แต่บางทีมองจากด้านข้างกลับไม่เห็นสีเหลือง ดังนั้นจะใช้สเกลอะไรดี จึงจะถูกต้องได้มาตรฐานมากที่สุด

2.2 สเกลที่ได้มาตรฐาน หลายปีมาแล้ว ที่สถาบันอัญมนีศาสตร์ แห่งอเมริกา คิดจัดทำมาตรฐาน สีของเพชร ขึ้นไว้สำหรับเป็นตัวอย่างเทียบสี เพื่อจัดระดับคุณภาพสี ของเพชรโดยการ รวบรวมเพชร ที่มีช่วงของสี จากไร้สีจนถึงสีเหลืองอ่อน เพชรที่ใช้เป็นตัวอย่าง มาตรฐานเทียบสี มีขนาดตั้งแต่ 1/4 กะรัต (0.25 ct) ขึ้นไป และรวบรวมจัดทำชุด ของเพชรเป็นแม่แบบ ของสีขึ้นมา และใช้สเกล เป็นตัวอักษรจาก D - Z โดยแบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้ D E F ไร้สี G H I J เบี่ยงเบนจากไร้สีนิดหน่อย K L M มีสีเหลืองนิดหน่อย N - R มีสีเหลืองปนบ้าง ตามองเห็นได้ง่าย S - Z มีสีเหลืองอ่อน เห็นได้ชัด เพชรที่มีระดับสีสูงๆ ราคาจะแพง และราคาจะลดลงมา ตามระดับ แต่อัตราการลดลง ของราคา ในแต่ละระดับ ไม่สม่ำเสมอ เช่นราคาในช่วงเดียวกัน D E F ราคาจะลดลงไม่มากนัก แต่พอข้าม ช่วงจาก F มา G ราคาจะลดลงมากขึ้นคือ ราคาของช่วงระดับ D E F และระดับG H I J จะแตกต่างกันมาก ราคาของช่วงระดับ G H I J และระดับ K L M ราคาจะต่างกันมากเช่นกัน แต่จากช่วงระดับ K L M และระดับ N - R และระดับ S - Z ราคาจะลดลงไม่มากนัก (พูดถึงเพชรในขนาดเดียวกัน คุณภาพมลทินเท่ากัน) ดังนั้นจะเห็นว่า การใช้ตา หรือความรู้สึกจัดระดับสีเพชร จะเป็นการเสี่ยงมาก อาจจะทำให้สูญเสียเงินโดยไม่คุ้มค่าได้

ข้อควรระวังในการจัดระดับคุณภาพสี

1. แสงสีฟ้าจากไฟ หรือการสะท้อนแสงของแสงสีขาวออกจากสิ่งแวดล้อม จะทำให้เพชร ดูมีน้ำขาวไร้สี มากกว่าความเป็นจริง

2. เพชรร่วง มักจะห่ออยู่ในกระดาษสีฟ้า ทำให้ดูขาวไร้สีขึ้น อย่าจัดระดับสีเพชรโดยใช้ฉากหลังสีฟ้า วิธีการดูสีที่แท้จริง (body color) ของเพชร ทดลองใช้วิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้คือ ล้างเพชรให้สะอาด ม้วนกระดาษสีขาวให้โค้ง ถือไว้ด้วยมือซ้าย ใช้ปากกาคีบคีบจับเพชรด้วยมือขวา โดยให้ด้านหน้าโต๊ะ ของเพชรวางอยู่ บนด้านล่างของกระดาษที่ม้วน ให้มองสีที่ก้นเพชรว่า ขาวไร้สีหรือมีสีเหลืองปน แต่วิธีนี้ใช้กับเพชรที่อยู่ในตัวเรือนไม่ค่อยได้ผล

3. เพชรที่อยู่ในตัวเรือน จะจัดระดับสี ได้ยากเพราะอาจจะทำให้ดูขาว หรือเหลืองกว่าความเป็นจริง

4. อย่าจัดระดับสีเพชร ภายใต้แสงที่สว่าง เกินความจำเป็น เพชรจะดูเข้มด้วยแสงไฟ ซึ่งจะบดบัง ความเหลืองที่ปนอยู่

5. ให้ระวังมากๆ เมื่อจัดระดับสีเพชรขนาดใหญ่ ยิ่งขนาดใหญ่ ยิ่งมีความแตกต่าง อย่างมาก ในราคา แต่ละระดับ สำหรับกลุ่มไร้สีกับเกือบไร้สี การผิดพลาดในการจัดระดับ คุณภาพสีจะถือเป็นเรื่องใหญ่ และจะผิดพลาดมากยิ่งขึ้น ถ้าเพชรนั้นใส ไร้มลทิน เพราะราคาจะผิดไปมาก ควรจะซื้อเพชรที่อยู่ ในระดับสีใด สีที่ควรเลือกใช้ G H I จะถูกกว่า D E F มาก เพชรระดับ G H I จะมองดูขาวไร้สี เหมือนระดับ D E F เมื่อมองจากทางด้านบนของเพชร ดังนั้นเมื่อนำมา เข้าตัวเรือนก็ยาก ต่อการ ที่จะมองเห็น ความแตกต่างของสี ของสองระดับนี้ และจะไม่มีใคร มองเห็นว่าเพชรนี้ ไม่ได้ขาวเลย ทีเดียว โปรดระวังอย่าจ่ายเงิน ซื้อเพชรในระดับเกือบไร้สี (G H I) ในราคาของเพชรไร้สี (D E F) เพราะสองช่วงระดับนี้ ราคาแตกต่างกันมาก

3. การเจียระไน

มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเจียระไนดี จะนำเอาความสวยงาม ของเพชรออกมา ให้เห็นเด่นชัด คนทั่วไปมักจะมองข้ามการเจียระไน แต่มุ่งความสนใจไปที่มลทิน และสี ความสวยงามของเพชรจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเพชรนั้นมีการกระจายแสงที่ดี หรือที่เรียกว่า มีไฟดี มีความสุกใสสดใส มีประกายแวววับเข้าสู่ตา คุณสมบัติเหล่านี้จะพร้อมมูล ต่อเมื่อเพชรนั้น มีการเจียระไนได้ถูกต้อง ได้สัดส่วน มีฝีมือประณีตเรียบร้อย ปัจจุบันเพชรจะมีการเจียระไน
58 เหลี่ยม ที่เรียกว่าเหลี่ยมเกสร หรือเรียกว่า brilliant cut ส่วนเหลี่ยมกุหลาบ หรือเรียกว่า single cut จะเจียระไน 36 เหลี่ยม แต่ไม่ค่อยมีไฟ และความสุกใส ประกายวาวเท่าที่ควร ปัจจุบันมีการเจียระไนที่เรียกว่า russian cut ซึ่งก็คือเพชร ที่เจียระไน 58 เหลี่ยมนั้นเอง แต่สัดส่วนของ การเจียระไน ได้สัดส่วน มีขนาดโต๊ะ ขนาดบ่า ขนาดความลึกของก้น ตามสัดส่วน ที่ได้วางมาตรฐาน ไว้ว่าจะให้ไฟ ความสุกใสประกายสวยงามที่สุด รวมทั้งความปราณีต ของแต่ละหน้า แต่ละเหลี่ยม คมชัดสวยงาม เพชรที่เจียระไนแบบนี้ จะมีราคาค่อนข้างแพง

4. น้ำหนัก

เพชรจะมีราคาแพง ตามขนาดและ จะมีค่าสูงตั้งแต่ 1 กะรัตขึ้นไป และค่าจะสูงมากขึ้นตั้งแต่ 5 กะรัตขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวประกอบ สี มลทิน การเจียระไนด้วย

ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเพชร

1. เลือกซื้อจากร้านที่มีชื่อเสียง หรือร้านที่รู้จัก
2. ใช้วิธีการให้ทางร้านอธิบายให้ฟังถึงสี มลทิน การเจียระไนของเพชรที่จะซื้อ
3. ให้มีใบรับประกันคุณภาพ และสามารถรับคืนได้โดยหักเงินเพียง 10 - 20 %
4. ใช้แลกเปลี่ยนซื้อของชิ้นใหม่ที่ราคาแพงกว่าได้
5. ให้ระวังเพชรเทียม เช่น เพชรรัสเซีย เป็นต้น โปรดสังเกตว่าเพชรเทียมจะมีน้ำ ไฟประกาย วูบวาบจนผิดสังเกต และจะมีน้ำหนัก มากกว่าเพชรเกือบเท่าตัว และเหลี่ยมคม ของการเจียระไนไม่ดีเท่าเพชรแท้
6. ถ้ามีเงินไม่มากนัก ควรเลือกซื้อแหวนเพชร ที่ใช้ได้ทุกสมัย ไม่ล้าสมัยเร็ว ( อย่าเลือกแบบแฟนซี ) แบบที่ว่านี้ได้แก่ แหวนเพชรเม็ดเดียว แหวนเพชรที่ เพชรเม็ดกลาง โตหน่อย มีเพชรเล็กข้างๆ หรือล้อมรอบ มีช่วงราคาประมาณ 20,000 บาท ขนาดของเพชรอย่าให้เล็กเกินไป ถ้าเป็นแหวนเพชรเม็ดเดียวขนาดที่น่าซื้อคือน้ำหนักประมาณ 60 สตางค์ ระดับสี I ระดับมลทิน VS2 มีการเจียระไนที่ดี เลือกแหวนแบบ นี้จะได้ทั้งความสวยงาม และราคาย่อมเยาด้วย แต่ถ้าหากอยากจะได้แหวนแถว ที่น่าซื้อก็จะเป็นแหวนแถวเดียวใช้เพชร 5 เม็ด และอย่าให้สีของเพชร แตกต่างกันมากเพราะจะดูไม่สวย และควรเลือกเพชรเจียระไน เหลี่ยมเกสร น้ำหนักเพชรทั้ง 5 เม็ด ควรรวมกันแล้วได้ประมาณ 50 สตางค์ หรือครึ่งกะรัต ระดับสีประมาณ H I J ระดับมลทิน VS2 7. ถ้าหากว่าจ่ายเงินซื้อเพชร สี F ระดับ IF ขนาด 1 กะรัต แต่ที่จริงแล้วเป็นเพชรสี H ระดับ VS คุณจะจ่ายเงินมากเป็นสองเท่าของความเป็นจริง

(จาก Rock-Hut information)