การเจียระไนพลอย (Gemstone Cut)

พลอยก้อนทั้งที่เผาแล้ว หรือพลอยสด (ไม่ได้เผา) จะถูกนำไปเจียระไน ให้ได้รูปร่าง และเหลี่ยมมุมที่เหมาะสม กับพลอยแต่ละเม็ด

ขั้นตอนของการเจียระไนพลอย

1. ล้างก้อนพลอย ที่จะเจียระไนด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วพิจารณาดูรอยแตกร้าว ถ้าไม่มี หรือมีไม่มาก ก็จะคงไว้เช่นเดิม แต่ถ้ามีมาก ต้องตัดแบ่งออกเป็นหลาย ๆ เม็ด ตามรอยแตกนั้น

2. ตั้งน้ำ คือการกำหนดรูปร่างของพลอยแต่ละเม็ด ว่าส่วนใดจะเป็นหน้าพลอย ส่วนใดจะเป็นก้นพลอย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าเลือกผิด พลอยเม็ดนั้นอาจมีสี หรือไฟไม่สวยเท่าที่ควรจะเป็น การตั้งน้ำพลอย จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพลอยที่มีขนาดใหญ่ และมีราคาสูง ผู้ที่จะตั้งน้ำพลอยได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ และความชำนาญมาก พลอยดิบบางเม็ด อาจมีสีอยู่เต็มตลอดทั้งเม็ด แต่บางเม็ดอาจมีเพียงบางส่วน เราเรียกว่า "จุดสี" คนตั้งน้ำจะกำหนดจุดสีให้เป็นส่วนก้นพลอย เมื่อเจียระไนเสร็จ เหลี่ยมเหล่านี้ จะสะท้อนแสง (Reflex) ทำให้พลอยมีสีสวยเต็มเม็ด และประกายระยิบระยับสวยงาม ฉะนั้นการกำหนดจุดสีผิดตำแหน่ง จะทำให้เห็นสีพลอยไม่เต็มเม็ด ด้อยความงาม และขายไม่ได้ราคา

3. โกลน (แปลว่าทำเป็นรูปไว้ เกลาไว้) เมื่อตั้งน้ำได้กำหนดจุดสีแล้ว ว่าด้านไหน เป็นส่วนหน้าหรือก้นพลอย และมีรูปร่างแบบไหน คนตั้งน้ำจะโกลนพลอยกับเครื่องมือเจียระไน ให้ได้รูปร่างอย่างคร่าว ๆ

4. ขัดเงา ช่างเจียระไน จะนำพลอยที่โกลนไว้ มาเจียระไนเหลี่ยม ครบตามมาตรฐานรูปร่างของพลอยนั้น ๆ แล้วขัดเงา ให้ผิวทุกเหลี่ยม มีความมันวาว และเหลี่ยมคมชัดไม่ขรุขระ หลังจากเจียระไนแล้ว จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ จะได้แก้ไขให้สวยกว่าเดิม

รูปแบบของการเจียระไนเพชร-พลอย

1. เจียระไนรูปกลมเหลี่ยมรุ้งประกาย (Brilliant Cut) มีเหลี่ยมตัด (Facets) ที่หน้าเพชร 33 เหลี่ยม มีเหลี่ยมตัดที่ส่วนล่าง หรือก้นเพชร 25 เหลี่ยม รวม 58 เหลี่ยม ความหนาของหน้าเพชร ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของเม็ดเพชรพลอย เหมาะสำหรับการเจียระไนกับ เพชร ที่มีเนื้อสวยใส คุณภาพดี นิยมเรียกกันทั่วไปว่า "เหลี่ยมเกสร"

2. เจียระไนรูปกลมเหลี่ยมกุหลาบ (Rose Cut) โดยมากมีเหลี่ยมตัดที่หน้าพลอย 24 เหลี่ยม นิยมเจียระไนกับ เพชรพลอยเล็ก ๆ สำหรับประดับรูปพรรณต่าง ๆ เหลี่ยมกุหลาบ จะมีประกายน้อยกว่าเหลี่ยมเกสร

4. เจียระไนเป็นรูปหลังเบี้ย (Cabochon Cut) เหมาะสำหรับพลอยที่มีคุณภาพต่ำ หรือมีตำหนิ หรือแตกร้าว หรือเนื้อ ขุ่นมัวมาก เมื่อขัดผิวให้ มันวาวแล้ว สามารถนำไปทำเครื่องประดับ ให้สวยงามไปอีกแบบ

พลอยที่ต้องเจียระไนเป็นแบบหลังเบี้ย ได้แก่

พลอยประเภทที่มีสาแหรก (Star)เป็นรูปดาว 6 แฉกอยู่ที่หน้าพลอย เช่น สตาร์ไพลิน สตาร์ทับทิม สตาร์ดำ

พลอยที่มีเส้นพาดกลางอยู่ตรงหน้าพลอย เช่น ตาแมว (Cat's Eye) ตาเสือ (Tiger's Eye) มุกดาหาร (Moonstone)

พลอยที่มีลวดลายสวยงามอยู่ในเนื้อพลอยเช่น โอปอล (Opal) หินลาย (Agate)

ดังนั้นการเจียระไนแบบหลังเบี้ย จึงมิใช่พลอยที่มีคุณภาพต่ำเสมอไป บางเม็ดบางชนิด อาจมีราคาแพงกว่าการเจียระไนแบบตัดเหลี่ยม เช่น หยก ไพฑูรย์ ทับทิมสตาร์ โอปอล ฯลฯ การเจียระไนหลังเบี้ย ด้านบน เม็ดพลอย จะนูนสูง ไม่ตัดเหลี่ยมใด ๆ ส่วนก้นพลอยมัก จะตัดตรง หรือนูนเล็กน้อย ตามเนื้อพลอย บางเม็ดอาจเจียร์ นูนสูงทั้งบนและล่าง เรียกว่า "หลังเบี้ยประกบ" (Double Cabochon) ทั้งนี้เพื่อให้ ส่วนล่าง อุ้มสีของพลอยให้กระจายขึ้นหน้า พลอย ทำให้สีพลอยเข้มขึ้น และบางเม็ดเนื้อพลอย จะเป็นรูปโค้ง จึงต้องเจียร์ก้นพลอยให้เว้าเข้า และโค้งตาม ด้านบน มองดู คล้ายกระทะคว่ำ ทำให้สีอ่อนลง และเนื้อใส แวววาวขึ้น เหมาะกับพลอยที่มีสีเข้มมาก และเนื้อขุ่นมาก ชาวเนปาล เรียกว่า Hollowed Cabochon

นอกจากนี้ ยังมีการเจียระไนอีกหลายรูปแบบ เช่น รูปมาคีส์ รูปไข่ รูปหัวใจ รูปหยดน้ำ รูปสี่เหลี่ยม และรูปร่างแฟนซีมากมาย โดยยึดหลัก "รักษาเนื้อพลอย และสวยที่สุด" นั่นเอง

(จากหนังสือศรีสรรพ์อัญมณี)